โควิดทำให้ “เด็กไทย” ถอยหลัง เห็นด้วยเร่งฟื้นฟู “ปี 2566”

โควิดทำให้ “เด็กไทย” ถอยหลัง เห็นด้วยเร่งฟื้นฟู “ปี 2566”

เด็ก

ผมเห็นด้วยกับข่าวท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง ท่านกำหนดนโยบายการจัดการเรียนการสอนในปี 2566 หรือปีนี้ ให้เป็นปีแห่งการเน้นการ “ซ่อมสร้าง” ให้เด็กมีคุณภาพ โดยไม่เน้นการสอนที่ต่อยอดสู่ความเป็นเลิศมากนัก เนื่องจากเด็กๆได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย หรือ Learning Loss ขึ้นในทุกจังหวัดทั่วประเทศ เหตุเพราะเด็กไทยไม่สามารถจะไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนได้เหมือนในสถานการณ์ปกติ ต้องหันมาใช้วิธีเรียนออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็มีปัญหาเกิดขึ้นมากมายก่ายกองดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ผมเองถือว่ามีประสบการณ์ด้วยตนเอง เพราะมีหลานวัย 8 ขวบ กำลังเรียน ป.2 กับวัย 4 ขวบ เริ่มเข้าเรียนอนุบาล 1 อพยพหนีภัยโควิด-19 มาอยู่รวมกันที่บ้านผมร่วมๆ 2 ปีเห็นจะได้ มีโอกาสได้ยินได้ฟังและบางครั้งก็ได้เห็นวิธีการสอนจากคุณครูทั้ง 2 ระดับ ตลอดจนได้ยินเสียงดุของลูกสะใภ้ผมซึ่งเป็นแม่ของเด็กจนชินหูว่าอย่างนั้นเถิด ที่ต้องดุต้องขึ้นเสียงกันอยู่บ่อยๆ ก็เพราะเด็กทั้ง 2 คนแทบไม่ตั้งใจเรียนเอาเสียเลย ซึ่งก็ไม่ใช่ความผิดอะไรของเด็ก เพราะโดยธรรมชาติเด็กๆทั่วโลก ไม่ว่าเชื้อชาติไหน สัญชาติใด ล้วนแต่รักการเล่นมากกว่าการเรียนทั้งสิ้น เมื่อการเรียนคนเดียวอยู่กับบ้านมันน่าเบื่อเช่นนี้…เด็กๆที่ไหนจะตั้งใจเรียนล่ะครับ ต่างกับการเรียนหนังสือที่โรงเรียน มีเพื่อนร่วมห้องเรียนด้วยกัน ทำให้เกิดบรรยากาศของการแข่งขันบ้าง การช่วยเหลือซึ่งกันและกันบ้าง ถึงเวลาก็ออกไปเล่นพร้อมๆกัน ทำให้มีกำลังใจที่จะกลับมาเรียนใหม่ ผมจึงเชื่ออย่างสนิทใจที่มีนักการศึกษาหลายท่านออกมาประเมินผลว่าการเรียนการสอนทางออนไลน์ทำให้ความรู้ของเด็กไทยถดถอยลงไปอย่างน้อยก็ 1 ปี หรือปีครึ่งเลยทีเดียว

แนะนำข่าวเด็ก อ่านเพิ่มเติมคลิ๊กเลย :  แคนาดาอนุมัติฉีดวัคซีนโควิด-19 ไฟเซอร์ ให้เด็กต่ำกว่า 5 ปี